ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ สวทช. คนใหม่

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – 29 สิงหาคม 2565 : ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ได้เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คนใหม่ ตามที่กระทรวง อว. เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กวทช. โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีนั้น วันนี้คณะกรรมการ กวทช. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องสำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะผู้บริหาร สวทช. ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงหลายคน และเห็นชอบกำหนดนโยบายเพื่อให้ สวทช. ดำเนินงานเป็นขุมพลังหลักของประเทศในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ใช้ศักยภาพเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต กำลังคน และการจ้างงาน ช่วยยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ทั้งนี้ได้กำหนดนโยบายที่ สวทช. มุ่งใช้ขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจและสังคมบนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระยะแรก ปี 2565-2568 อาทิ  1. นำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม  2. ส่งเสริม ผลักดัน และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน หน่วยวิจัย และภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาสาธารณะที่สำคัญ ด้วยการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม โดยในระยะแรกมุ่งเน้นภาคเอกชนที่มีความพร้อมจะพัฒนาด้วยการวิจัย และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร 3. ขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมาใช้งานอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญที่ สวทช. มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ 4. สนับสนุนและร่วมมือให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อม สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน EECi และร่วมสร้างผลงานวิจัยออกสู่ตลาดร่วมกัน  5. สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ BCG เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากนโยบายขับเคลื่อน BCG ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ6. พัฒนาการให้บริการธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบครบวงจรในภาพรวมทั้ง สวทช. เพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า มีความพร้อมรับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ “ผู้อำนวยการ สวทช.” และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยของ สวทช. ที่มีบุคลากรกว่า 3,000 คน โดยมากกว่า 70% เป็นนักวิจัย และเป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกมากกว่า 700 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศ อีกทั้งพร้อมผนึกกำลังความเชี่ยวชาญกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เสมือนหนึ่งเป็นทีมประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตอบโจทย์ที่สำคัญ นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดบนสังคมฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็งต่อไป 

“ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจำเป็นต้องอาศัยกลไกการวิจัยและพัฒนาที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจ ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล ขณะเดียวกันชุมชนต้องสามารถเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อเกิดอาชีพ เพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน”  ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวด้วยประสบการณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ได้มีโอกาสศึกษาและทำวิจัยทั้งสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนในต่างประเทศ และต่อมาเป็นผู้บริหารด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในองค์กรสำคัญระดับประเทศ จึงพร้อมนำความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่มีมารับใช้ประเทศ ทั้งรากฐานของการเป็นนักวิจัยและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยจะร่วมกับนักวิจัย สวทช. ขับเคลื่อนองค์กรอย่างเต็มกำลังความสามารถและเชื่อมโยงทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่เข้มแข็ง สามารถตอบโจทย์ประเทศให้มากยิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ตลาดอุตสาหกรรมไทย
Logo