ในปี พ.ศ.2565 เราจะได้เห็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับใช้เทคโนโลยีสำคัญ ๆ มากมาย ซึ่งหากนำไปใช้อย่างถูกต้อง จะสามารถผลักดันนวัตกรรมและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ และนี่คือบทสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับ 5 แนวโน้มเทคโนโลยีในภาคการผลิตที่สำคัญ ที่น่าจับตามองในปี พ.ศ.2565 พร้อมแนวทางการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ
เทรนด์#1 :เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ขั้นสูง (Advanced Analytics)
การใช้เทคโนโลยี AI ของอุตสาหกรรมการผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในงานควบคุมคุณภาพ เนื่องจาก AI สามารถตรวจสอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนได้อย่างละเอียดและตรงตามคุณภาพที่ถูกกำหนดไว้ จากชิ้นส่วนที่ผลิตทั้งหมด จะมีชิ้นตัวอย่างที่จะถูกสุ่มเลือกมาใช้เพื่อหาข้อบกพร่องและการเปลี่ยนแปลงของสภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขั้นตอนนี้เราอาจพบข้อบกพร่องที่ไม่มีใครสังเกตเห็นได้ เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบชิ้นส่วนที่ผลิตทั้งหมด ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี AI จะช่วยให้การตรวจสอบชิ้นส่วนที่ผลิตทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) ในอัตราการตรวจสอบที่สูงมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมาก และลดโอกาสการเกิดข้อบกพร่อง โดยการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนและการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักร กระบวนการ และระบบสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ นั่นทำให้ระบบควบคุมคุณภาพการผลิตแบบอัจฉริยะเป็นส่วนสำคัญของการผลิตแห่งอนาคต ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดจริงในวันนี้และวันหน้า
เนื่องจากความต้องการในด้านการปรับแต่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความเฉพาะตัวทั้งในด้าน Customization และ Personalization ที่มากขึ้น AI จะกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญสำหรับผู้ผลิตในการใช้ระบบ Pull System ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการมากขึ้น และเทคโนโลยี AI จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะให้กับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่เลือกที่จะแบ่งปันการตั้งค่าที่มีความเฉพาะของพวกเขา
เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Industrial Internet of Things (IIoT) ในอุตสาหกรรมการผลิตกำลังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงงานผู้ผลิต โดยเฉพาะในด้านการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ การคาดการณ์ในด้านการบำรุงรักษา การจัดการวัสดุ การจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน สินค้าคงคลัง และการประกอบชิ้นส่วน เป็นต้น จำนวนข้อมูลที่สร้างขึ้นจากระบบ IoT และ IIoT นั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการนำระบบนี้ไปใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการฝังเซ็นเซอร์จำนวนมากขึ้นในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้มาจากการตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเพื่อใช้ในการตัดสินใจรวมถึงปรับปรุงคุณภาพการผลิตแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ การนำ AI, Edge Computing และ Cloud Computing มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมาก เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความต้องการและสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ โดยใช้แบบจำลองการคาดการณ์จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ สำหรับผู้ผลิตที่มีความพร้อมจะใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ขั้นสูงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ออกแบบมาอย่างดี
เทรนด์#2 :ระบบอัตโนมัติที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม
บางบริษัท ไม่ได้มองว่าระบบอัตโนมัตินั้นเป็นทางเลือกในการผลิตสินค้า เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอในการลงทุนที่จะนำโซลูชันที่จำเป็นมาปรับใช้งาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ต้นทุนของระบบอัตโนมัติลดลง ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถนำเทคโนโลยีและโซลูชันมาใช้สร้างความได้เปรียบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านความแม่นยำ ความสามารถในการผลิตซ้ำ ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการเพิ่มผลผลิต
นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติยังขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี IoT, IIoT, Data Analytics และ AI มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งความสำเร็จของบริษัทที่ใช้ระบบอัตโนมัติยังเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทอื่น ๆ หันมาลงทุนในระบบอัตโนมัติเช่นกัน ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจมากขึ้น และจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการใด เพื่อสร้างมูลค่าในการผลิต แม้ว่าในปี พ.ศ.2565 จะมีบริษัทจำนวนมากเข้าใจว่าระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญ คือ ไม่ใช่ทุกงานที่จะสามารถใช้ระบบอัตโนมัติได้
เทรนด์ #3 : หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตมีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพิ่มมากขึ้นมาหลายทศวรรษ โดยนำมาใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการผลิตที่มีกระบวนทำซ้ำ ๆ และไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และแนวโน้มนี้จะยังคงมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ผลิตจะนำหุ่นยนต์ใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (Cobots) และยานยนต์นำทางอัตโนมัติ (AGV) หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ความยืดหยุ่น และมีคุณภาพพร้อมในตัวหุ่นยนต์เอง ซึ่งหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำงานร่วมกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่งานสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นหุ่นยนต์อัจฉริยะจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ การใช้หุ่นยนต์มากขึ้นจะเพิ่มโอกาสในการทำงานแบบรีโมท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปในปี พ.ศ.2565
เทรนด์#4 : อาศัยห่วงโซ่อุปทานที่มาจากพื้นที่ใกล้เคียง
โลกเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)ในปี พ.ศ.2563 และ 2564 โดยผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจะยังคงสร้างความยุ่งยากในอุตสาหกรรมการผลิตต่อไป และผู้ผลิตมักจะใช้ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่นเพื่อจัดการกับความท้าทายดังกล่าว แม้อาจทำให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์สูงขึ้น แต่ก็สามารถมองได้ว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มความคล่องตัว สร้างความยืดหยุ่น และคุณภาพที่จะส่งผลให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการรุกตลาดจึงเป็นแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี พ.ศ.2565 โดยเป็นส่วนหนึ่งของนำกลยุทธ์ระดับโลกมาปรับใช้ในระดับท้องถิ่น แนวโน้มนี้จะช่วยเร่งแนวคิดของการผลิตแบบกระจายศูนย์หรือการผลิตในท้องถิ่นซึ่งเป็นแนวทางที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางเพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ระบบห่วงโซ่อุปทานและการจัดส่งแบบกระจายศูนย์ใกล้แหล่งผลิตจะส่งผลให้เกิดการกำจัดการพึ่งพาแหล่งผลิตที่เดียว เพิ่มความยืดหยุ่นและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน บริษัทผู้ผลิตจะทบทวนรูปแบบธุรกิจและกลยุทธ์ที่ใช้อยู่ พร้อมมองหาโซลูชันใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ และระยะเวลาการส่งมอบ การทำให้กระบวนการของห่วงโซ่อุปทานให้เป็นอัตโนมัติ ต้องใช้พลังของพันธมิตรและการทำงานร่วมกัน ผ่านการใช้ระบบ omnichannel เพื่อรับรู้ถึงการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพและการขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลาย เพื่อให้เข้าใจมองเห็นได้ชัดเจน มีความความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ล้วนเป็นโซลูชันที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตควรคำนึงถึงในปี พ.ศ.2565
เทรนด์#5 : การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นเรื่องการปรับปรุงระบบดั้งเดิมให้มีความทันสมัย รวมถึงการดัดแปลงอุปกรณ์รุ่นเก่า และการใช้ประโยชน์จากพลังของเซนเซอร์ขั้นสูง จากเทคโนโลยีเสมือนจริงทั้ง VR และ AR และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างมูลค่ามากขึ้น และแข่งขันได้
นอกจากเทคโนโลยีที่มีความสำคัญดังกล่าวแล้ว ฝาแฝดเสมือน (Virtual Twin) สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ควรจับตามอง เช่นเดียวกับการนำมาใช้ปฏิบัติงานในโรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถนำมาใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่เพิ่มการมองเห็นแบบเรียลไทม์และบรรลุประสิทธิภาพสูงสุดและการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการใช้ IoT, IIoT, การวิเคราะห์ข้อมูล, AI และ Virtual Twin นั้น จำเป็นต้องใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับและตรวจสอบสภาพแวดล้อม ชิ้นส่วน เครื่องจักร ระบบ เป็นต้น ซึ่งต้องมีเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับแสดงข้อมูลที่บันทึกโดยเซนเซอร์หลากหลายเช่นเดียวกันกับใช้แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้นด้วยการดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ การแสดงข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมการวิเคราะห์ข้อมูล จึงเป็นกุญแจสำคัญในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจะมีผู้ผลิตจำนวนมากหันมาลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลในปีนี้ ขณะที่ผู้ผลิตจำนวนมากมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเห็นด้วยกับการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ โดยไม่มีใครสามารถหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างความได้เปรียบ ปรับใช้ตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคงความสามารถในการแข่งขันไว้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ผลิตในการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาบุคลากรและใช้แนวทางที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากบทบาทการทำงานของคนเป็นปัจจัยสำคัญในทุกด้าน นอกจากโซลูชันทางด้านเทคนิคเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมในการผลิต เทคโนโลยีที่ดีควรสนับสนุนการทำงานของผู้คนและยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตรอบด้านให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในแง่ของความคิดสร้างสรรค์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม
โดย Dassault Systemes