5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดงาน “Sustainability Expo 2022” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) เพื่อสร้างความสมดุลความยั่งยืนให้ตัวเองและโลก โดยงานจัดระหว่างวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2565-วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.สุเมธตันติเวชกุลกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่งมาพูดถึงเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะมนุษย์สนองความต้องการตัวเองไม่รู้จบ ลืมไปว่าจำนวนประชากรหรือคนในโลกนี้มากมายและไม่อยู่นิ่ง ประชากรในโลกก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ทรัพยากรในโลกกลับลดลงคือหายไปเฉลี่ย 1 ใน 3 ทำให้มีการแย่งชิงทรัพยากรมาหลายทศวรรษ และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีสงครามแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีร่องรอยของสงครามเกิดขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ทรงใช้เวลา 8 เดือนทุกปี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงงานและประทับ ภาคเหนือ อีสาน ใต้ และหัวหินแห่งละ 2 เดือน ทรงทำสิ่งที่ง่ายและจำเป็นที่สุด เพื่อรักษาสภาพพอเพียงให้เกิดขึ้น ให้มีน้ำ อาหาร ปัจจัยแห่งชีวิตให้เพียงพอ เป็นเวลา 70 ปี ตระเวนไปทั่วจนปัจจุบันมี 4,000 กว่าโครงการในพระราชทานดำริ ก็น่าเสียดายที่เราปลาบปลื้มที่ได้เห็น แต่ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตาม
“วันนี้โลกของเรากำลังแตกสลาย เช่นในปี พ.ศ.2531 ในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาทรงรับสั่งว่าสาเหตุที่ตั้งเพราะปัญหาที่ชาวโลกเผชิญอยู่ ใหญ่โตขึ้นไปทุกที ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาแล้ว แต่เป็นสงคราม มนุษย์ทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้ มันไม่ใช่สงครามฆ่ากัน แต่เป็นการเอาชนะปัญหา ทำให้นึกถึงประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา ที่เผชิญทั้งโรคระบาดและสงคราม อย่างสงครามเป็นการทำลายล้างให้เกิดความขาดแคลน เกิดภาวะราคาสินค้าแพงขึ้น กระทบคนเป็นล้านๆ คน เกิดเป็นสภาวะทุกข์ร้อนทั้งประเทศ ดังนั้นวันนี้จะเข้าใจหรือยัง ที่ทรงรับสั่งคำง่ายๆ คือ พออยู่พอกินให้ได้ ขณะนี้มนุษย์เริ่มรู้ตัว เราจะเจอประโยคง่ายๆ มากมาย อย่างคำว่า ขึ้นสู่สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ สิ่งแวดล้อมสีเขียว ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์พยายามแสวงหาทางออก เหลืออย่างเดียวคือการลงมือทำ ก็หวังว่าวันนี้จะเกิดผล ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยไม่น้อยหน้าใคร” ดร.สุเมธ กล่าว
นอกจากนี้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสนอเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่การไปปลูกผักหญ้าอะไร แต่เป็นวิธีคิด ซึ่งมีคำจำกัดความพระราชทานไว้ 13 บรรทัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ทรงเตือนประหลาดอย่างยิ่ง ทรงเตือนถึง 3 ครั้ง คือ ความเปลี่ยนแปลง ทรงเตือนให้รู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ต้องปรับตัวให้ทัน อย่างวันนี้เกิดดิสรัปชัน ทำให้บางสิ่งเกิดความพ่ายแพ้ราบคาบ นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักความคิด 3 ประการไม่ว่าทำอะไร พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันหมายความว่า ขั้นแรกก่อนทำอะไร ให้ประเมินตัวเอง ประมาณแก่ตน เอาขนาดทุนของตัวเองเป็นที่ตั้งหรือทำอะไรอย่าให้เกินตัว คนไทยมีจุดอ่อนคือ รู้เขาแต่ไม่รู้เรา เมื่อรู้ทุน รู้ปัจจัยการผลิตแล้ว ทรงให้ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง หากไม่ใช่ ความโลภจะทำทางแทน ขณะที่เหตุผลมาด้วยสติและปัญญา และภูมิคุ้มกัน คือการบริหารความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะโลกนี้เปลี่ยนต้องเตรียมให้พร้อม ต้องรอบรู้รอบคอบระมัดระวัง ยุคข้อมูลข่าวสารต้องตามให้ทัน คนไหนตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทันก็ถูกดิสรัปชัน อีกทั้งมีเรื่องคุณธรรมซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง พระองค์รับสั่งว่าใครทุจริตเพียงนิดเดียวขอให้มีอันเป็นไป ทรงรับสั่งอย่างรู้พระองค์ แต่ทรงเหลือที่จะไม่รับสั่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนต้องยั่งยืนไปสู่คนรุ่นหน้า พระองค์พระราชทาน 3 เป้าหมาย สมดุล มั่นคงและยั่งยืน ที่จะต้องลงมือทำ ทำให้ทันการณ์ด้วย เพื่อรักษาแผ่นดินให้อยู่สืบไป
ฐาปนสิริวัฒนภักดีประธานอำนวยการ Sustainability Expo 2022 กล่าวว่า งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) เพื่อสร้างความสมดุลความยั่งยืนให้ตัวเองและโลก รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมารวมตัวกัน และขยายเครือข่ายออกไปยังต่างประเทศ แต่ยังคงยึดโมเดลและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการจัดงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้นำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย จากการริเริ่ม TSX Expo ภายใต้เครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน หรือ Thailand Supply Chain Network (TSCN) ใน 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
ผนึกกำลังกันพัฒนาแพลตฟอร์มสู่มหากรรมด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ SX 2022 นอกจากนี้ งาน SX2022 ยังเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า B2C2B (Business-to-Consumer-to-Business) ซึ่งยึดผู้บริโภคเป็นแกนกลาง โดยเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้บริโภค และผู้บริโภคจะเชื่อมโยงกลับสู่ภาคธุรกิจ
“ยิ่งในช่วงความท้าทายหลัง COVID-19 จากนี้โลกของเราก็ยังเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่าสภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอยลง และที่สำคัญคือเรื่องของการเรียกร้อง สิทธิจากคนกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้เราได้เห็นความร่วมมือและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก นับเป็นความพยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้มากมาย รวมถึงการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การนําเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปใช้ในภาคสาธารณสุขเพื่อให้บริการทางการแพทย์กับชุมชนที่อยู่ห่างไกลเป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุกครั้งที่เราร่วมมือกันทํางานและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มนุษยชาติสามารถตอบรับความท้าทายและปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอและนี่คือที่มาของการจัดงาน Sustainability Expo 2022 ขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2565-วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรของศูนย์สิริกิติ์” ฐาปน กล่าว
รูปแบบในการจัดงานมี 7 โซนหลัก
สำหรับรูปแบบในการจัดงานมีพื้นที่จัดงานมี 2 ชั้น คือ ชั้น G เป็นนิทรรศการและเวทีหลัก และชั้น LG เป็นมาร์เก็ตเพลส ฟู้ด เฟสติวัล และคิดส์ โดยแบ่งเป็น 7 โซนหลัก ประกอบด้วย 1.โซนเศรษฐกิจพอเพียงและแรงบันดาลใจสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ ความเกี่ยวเนื่องระหว่างองค์ประกอบและนโยบายต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน นำเสนอประสบการณ์จริงของบุคคลและองค์การ ที่เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถนำไปปรับใช้และสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย 2.โซน Better Living นำเสนอกิจกรรมและโครงการขององค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การยกระดับคุณภาพชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ตลอดกระบวนการผลิต ห่วงโซ่มูลค่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) 3.โซน Better Community เล่าเรื่องราวของสังคมที่ดีขึ้นได้ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่พัฒนาโดยบริษัทชั้นนำของโลก องค์กรระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนแนวคิดที่น่าสนใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต 4.โซน Better Me เน้นองค์ประกอบหลัก 3 ด้านที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกด้านรวมถึงสุขภาพ ได้แก่ “สุขภาพ” นำเสนอแนวทางในการสร้างสุขภาพกาย ใจ และอารมณ์ที่ดี ด้วยนวัตกรรมหลากหลายด้าน รวมถึงการแพทย์ “อาหาร” นำเสนอนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในปัจจุบัน รวมถึงนวัตกรรมอาหารรักษ์โลก และอาหารแห่งอนาคต และ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นำเสนอโครงการและแนวคิดที่น่าสนใจ ที่ส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน คนรุ่นใหม่ ตลอดจนการส่งเสริมแนวคิดด้านธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ 5.โซน Food Festival รวมเชฟชั้นนำจากรายการเชฟกะทะเหล็ก และมาสเตอร์เชฟ รวมทั้งร้านอาหารยอดนิยม มานำเสนออาหารแห่งอนาคต อาหารรักษ์โลก และอาหารสุขภาพ ในบรรยากาศของฟู้ดสตรีทจากทั่วโลก ซึ่งใครที่อยากชิมอาหารอร่อย ๆ จากร้านชื่อดัง ที่คัดสรรมาทั้งอาหารไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป 6.โซน Planet Kids สนามเด็กเล่นด้านเป้าหมายแห่งความยั่งยืน ที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมาย SDGs ด้วยความสนุกสนานและได้รับสาระไปพร้อมกันและ 7.Sustainable Marketplace ,uร้านค้าจากชุมชนกว่า 200 ร้าน ดีไซเนอร์รักษ์โลก และสินค้านวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนได้เพลิดเพลินกับการช้อปสินค้าด้านความยั่งยืนมากมาย
ฐาปน กล่าวว่านอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา 3 เวทีหลัก ซึ่งจะมีองค์กรและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ กว่า 150 คนจากทั่วโลก สลับสับเปลี่ยนขึ้นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอด 7 วัน ตามธีมของแต่ละวัน เช่น Collaboration, Community, Climate, Health & Well-being, Youth, Innovation และ Commitment Day เป็นต้น
จัดพิธีมอบรางวัล SX Shaper Award 2022 ให้แก่ อสม.
สำหรับพิธีมอบรางวัล “SX Shaper Award” เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของงาน Sustainability Expo (SX) ซึ่งเป็นมหกรรมด้านความยั่งยืน (sustainability) ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือขององค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะผู้จัดงาน TSX มีความมุ่งหวังว่า การยกย่องบุคคลที่ลงมือทำจริงผ่านรางวัล SX Shaper Award 2022 นอกจากจะให้กำลังใจกับผู้ที่ได้รับรางวัลให้ต่อยอดการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังจะสามารถช่วยประชาสัมพันธ์ผลงานและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสาธารณชนและคนรุ่นใหม่ให้ถือเป็นแบบอย่างอีกด้วย
..โดยรางวัล SX Shaper Award 2022 ในปีนี้ได้แก่ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)” ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านหน้าสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนในทุกๆพื้นที่ของประเทศไทยจนสถานการณ์ในหลายๆพื้นที่คลี่คลายเป็นปกติสุขในเวลาอันรวดเร็ว